ในปี 2020 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงมุมมองการเหยียดสีผิวในประเทศสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ การเสียชีวิตของ George Floyd โดยตำรวจเมือง Minneapolis และผลกระทบจากโควิด-19 ต่อชุมชนคนผิวสีและชุมชนละติน กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยุติความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมในสังคม ตลอดจนความไม่เท่าเทียมในระบบสาธารณะสุข โดยข้อเรียกร้องนั้นไม่เพียงแค่เป็นการมองที่ตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดหรือแค่การแก้ปัญหาโรคระบาดเท่านั้น หากแต่เป็นการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้กล่าวว่าการเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ
1. Systemic racism คืออะไร
Systemic racism คือการที่นโยบาย ข้อปฏิบัติ และสถาบันต่างๆ ในสังคม ส่งผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมหยั่งลึกในสังคมต่อคนหมู่น้อย โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวสี นักวิชาการสืบค้นที่มาของคำว่า Systemic racism ซึ่งได้มาจากหนังสือชื่อ “Black Power: The Politics of Liberation” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1967 โดย Kwame Ture หรือที่รู้จักกันในนาม Stokely Carmichael และ Charles V. Hamilton ผู้เขียนตีความประเภทของการเหยียดสีผิวไว้เป็น 2 ประเภท คือ
- การเหยียดสีผิวแบบเปิดเผย (Overt racism) คือการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังและอคติ อันนำไปสู่การทำร้ายร่างกายหรือกระทั่งเสียชีวิต
- การเหยียดสีผิวแบบซ่อนเร้น (Covert racism) คือการแสดงออกถึงการเหยียดสีผิวอย่างไม่เปิดเผย แต่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่าการแสดงออกอย่างเปิดเผย
Systemic racism ยังหมายรวมถึงกระบวนการเหยียดสีผิวเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่มุ่งเน้นไปยังบทบาทขององค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนทำให้ภาวะการเลือกปฏิบัตินี้คงอยู่ในสังคมมายาวนาน
2. Systemic racism ต่างจากพฤติกรรมการเหยียดสีผิวโดยทั่ว ๆ ไปอย่างไร
Systemic racism สามารถสร้างความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติได้ แม้จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ไม่มีอคติทางสีผิว (colorblind) นักวิชาการเช่น Eddie Glaude หัวหน้าภาควิชาการศึกษาเกี่ยวกับชาวแอฟริกัน-อเมริกัน มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระบุว่าการคงอยู่ของการเหยียดเชื้อชาติในระดับโครงสร้างนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ คนผิวขาวคงไว้ซึ่ง “การเพิกเฉยโดยเจตนา” (willful ignorance) ต่อความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ โดยไม่เกิดความรู้สึกผิดอะไร ในขณะที่ชาวอเมริกันผิวสียังคงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างต่อเนื่อง นักเคลื่อนไหวได้ชี้ให้เห็นว่าการเหยียดเชื้อชาติในระดับโครงสร้างนั้นครอบคลุมหลายสาขา ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และแม้กระทั่งกฏการแต่งกายในองค์กรก็ตาม
3. ทำไมจึงเกิด Systemic racism
ระบบทาสในประเทศสหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญในการเกิด Systemic racism ในระบบนั้นชาวอเมริกันผิวสีถูกมองเป็นทรัพย์สินและต้องอยู่ภายใต้กรอบหรือกฏเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ แม้กระทั่งบางรัฐที่ไม่ได้อยู่ในสมาพันธรัฐอเมริกา (The South) อย่างรัฐอิลลินอยส์ และโอเรกอนก็ยังมีกฏหมายต่อต้านการตั้งถิ่นฐานของชาวผิวสี หลังการเลิกทาส สมาพันธรัฐอเมริกาได้ใช้กฏหมายที่รู้จักกันในนาม Jim Crow ซึ่งมีข้อบังคับที่กีดกันโอกาสหลายด้านสำหรับชาวผิวสี แม้ว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจะนำไปสู่ข้อกฏหมายที่รับรองความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการศึกษา การทำงาน และแม้กระทั่งการออกเสียงเลือกตั้ง แต่ความไม่เท่าเทียมก็ยังคงอยู่
4. Systemic racism แสดงออกมาให้เห็นได้อย่างไร
ในเกือบทุกแง่มุมของชีวิตอันได้แก่ ภาวะว่างงาน ความมั่งคั่ง ภาวะสุขภาพ และการศึกษา มีงานศึกษาหลาย ๆ ชิ้นแสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขของชีวิตระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาวชาวอเมริกันนั้นแตกต่างกัน อัตราการว่างงานของคนผิวสีสูงกว่าคนผิวขาวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1972 และมีอัตราที่สูงขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก การแบ่งแยกสีผิวและการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและสถานภาพทางเศรษฐกิจของชาวอเมริกันผิวสี
5. Systemic racism อธิบายช่องว่างทางสังคมเหล่านั้นได้อย่างไร
ตัวอย่างหนึ่งคือ การจำกัดสิทธิประโยชน์ในการกู้ยืมเงินจากรัฐเพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ในชุมชนคนผิวสี ในประเทศที่มีการขยายเมืองออกสู่เขตชนบทอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายสิบปีนั้น การถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างฐานะและความมั่งคั่งของชนชั้นกลางในสังคม อย่างไรก็ตามครอบครัวคนผิวสีกลับถูกกีดกันการเข้าถึงโอกาสดังกล่าว ในปี 2019 ข้อมูลจาก U.S. Federal Reserve แสดงให้เห็นว่าครอบครัวคนผิวสีมีทรัพย์สินโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 13% ของทรัพย์สินโดยเฉลี่ยของครอบครัวคนผิวขาว การจำกัดสิทธิประโยชน์จากภาครัฐส่งผลต่อมูลค่าบ้านเรือนที่เห็นได้ชัดในชุนชนคนผิวสี ข้อมูลระบุว่า 74% ของพื้นที่ที่ภาครัฐปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ปัจจุบันกลายเป็นเขตที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง และ 64% ของพื้นที่เป็นชุมชนของคนกลุ่มน้อยในสังคม
6. Systemic racism มีผลกระทบอย่างไรในช่วงการระบาดของโควิด-19
เงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจในชุมชนคนผิวสีทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาทางด้านสุขภาพได้มาก เช่นโรคหืดหอบ เบาหวาน และมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง การศึกษาในปี 2014 พบว่า ในสหรัฐอเมริกา ประชากรชายชาวผิวสี ที่อายุ 23 ปี เกือบ 50% เคยถูกจับกุมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ชุมชนคนผิวสีมักจะไม่มีประกันสุขภาพ และโรงพยาบาลมักใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลคนผิวสีน้อยกว่า แม้ว่าพวกเขาจะมีภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษามากกว่าคนผิวขาวก็ตาม อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงและตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากขึ้นในกลุ่มชาวผิวสีและละตินอเมริกัน เป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า ระบบสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกายังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามเชื้อชาติหรือสีผิว และนั่นอาจเป็นสาเหตุทำให้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในคนผิวสีสูงกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่า
7. Systemic racism ทำให้เกิดอะไรอีกบ้าง
Systemic racism ยังส่งผลกระทบในเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ตัวอย่างเช่น อคติที่ชาวผิวสีทั้งชายและหญิงต้องพบเจอในที่ทำงานจากการไว้ผมตามธรรมชาติของพวกเขา หรืออย่างใน Wall Street แม้ว่าชาวผิวสีจะถูกจ้างงานด้วยเกรดเฉลี่ย 4.0 จากมหาวิทยาลัย Harvard พวกเขาก็ยังถูกมองจากเพื่อนร่วมงานผิวขาวว่าเป็น “การจ้างงานเพื่อความหลากหลายในองค์กร” นอกจากนี้ ยังมีกฏที่ถูกส่งต่อในกลุ่มพนักงานธนาคารผิวสีเพื่อความอยู่รอดในที่ทำงาน เช่น “ต้องพูดสำเนียงคนขาว” “ห้ามหัวเราะเสียงดัง” และ “ห้ามพูดเกี่ยวกับเชื้อชาติ” การเหยียดสีผิวแบบนี้ แม้ไม่ชัดเจนแต่อาจแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยหรือไม่ใส่ใจของคนผิวขาว ต่อการปฏิบัติที่เข้าข่ายเหยียดสีผิวที่พบเห็นได้ทั่วไปในองค์กร และส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกจ้างผิวสี
8. แนวคิดเกี่ยวกับ Systemic racism ถูกยอมรับในวงกว้างหรือไม่
แน่นอนว่าไม่เป็นที่ยอมรับ โพลเดือนกันยายน จาก Pew Research Center พบว่า 49% ของประชากรผู้ใหญ่คิดว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากพอในเรื่องความเท่าเทียมของคนผิวสีและคนผิวขาว ส่วน 15% คิดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไป และ 39% คิดว่านโยบายในปัจจุบันค่อนข้างถูกต้องแล้ว ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมพ์อนุมัติคำสั่งห้ามไม่ให้องค์กรภาครัฐใช้คำ เช่น “สิทธิพิเศษของคนผิวขาว” (white privilege) ในการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับความหลากลายทางเชื้อชาติ นอกจากนี้การใช้ความรุนแรงอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องของ “พฤติกรรมที่ผิดของตำรวจบางคน” (a few bad apples)
9. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ประธานาธิบดี โจ ไบเดนได้กล่าวว่า รัฐบาลของเขาจะจัดการกับเรื่องความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณสุข ทีมเศรษฐกิจกลุ่มแรกของเขาจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านผลกระทบของการเหยียดสีผิวต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สภาผู้แทนฯ ได้ปรับแก้กฏหมายควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วแต่ถูกยับยั้งจากวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระดับรัฐและท้องถิ่น โดยบางรัฐยกเลิกการใช้เทคนิคล็อคคอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
10. Systemic racism ส่งผลอย่างไรต่อภาคธุรกิจ
ภายหลังการประท้วงจากการเสียชีวิตของ George Floyd บริษัทใน S&P 500 จำนวน 87 บริษัทออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติ โดยส่วนมากประกาศว่า พวกเขาจะบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่สนับสนุนการศึกษา ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และการแสดงออก และพวกเขายังบอกว่าจะเปลี่ยนวิธีการจ้างงาน ภารกิจที่ยากกว่านั้นคือการแก้ไขปัญหาการเหยียดสีผิวที่มีอยู่ในการดำเนินธุรกิจบางอย่าง ข้อมูลจากทางธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า ชาวผิวสีและชาวละตินอเมริกันจำนวนมากยังไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินจากธนาคารได้ กลุ่มคนดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินหรือเครดิต ในทางกลับกัน การยุติการเหยียดสีผิวจะทำให้เกิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ในภาคธุรกิจ จากข้อมูลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จาก Citygroup พบว่าหากมีการปิดช่องว่างทางเชื้อชาติตั้งแต่เมื่อปี 2000 นั้น จะทำให้เกิดมูลค่าเม็ดเงินเพิ่มขึ้นในระบบถึง 16 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ