Article

Thailand does not participate in COVAX

covax-label.jpg

เป็นที่ทราบกันดีว่าโควิด-19 ไม่เพียงแต่จะเป็นวิกฤตสุขภาพ แต่ยังนำไปสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย คนไทยกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือ ธุรกิจรายย่อยและคนทำงาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขาย และคนทำงานหาเช้ากินค่ำ

รัฐบาลทราบดีว่า เราไม่สามารถทำให้คนในประเทศปลอดภัย ไม่สามารถเปิดประเทศ และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ตราบใดที่ประเทศยังไม่มี herd immunity (ภูมิคุ้มกันในประชากรหมู่มาก) ซึ่งแน่นอน การฉีดวัคซีนแทบจะเป็นวิธีเดียวเพื่อให้ได้มาซึ่ง herd immunity… ฉะนั้น การได้รับวัคซีนเร็วแค่ไหน ย่อมส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศเร็วแค่นั้น

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม องค์การอนามัยโลก (WHO) และพันธมิตร (CEPI และ Gavi) จึงได้จัดตั้งโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccines Global Access) ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้เท่าเทียมกัน

ขณะนี้มีประเทศที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนผ่านโครงการไม่ต่ำกว่า 180 ประเทศ โดยมีสัญญาการแจกจ่ายวัคซีน 2 รูปแบบ ได้แก่

  • ประเทศที่จ่ายค่าวัคซีนเอง (Self-financing participant; SFP): ประเทศในกลุ่มนี้จะได้รับการประกันว่า ประเทศจะมีช่องทางการเข้าถึงวัคซีนเป็นจำนวนโดสเท่ากับ 10-50% ของประชากรในประเทศ
  • ประเทศที่สั่งจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC): ประเทศที่มีสิทธิ์เข้าร่วมสัญญารูปแบบนี้ คือประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง และจะได้รับวัคซีนในราคาที่ถูกกว่ามาก

รายงานจาก COVAX ที่ออกมาอย่างเป็นทางการล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏว่าประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ—ยกเว้นประเทศไทย—จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ผ่านโครงการ COVAX ภายในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ตามจำนวนดังต่อไปนี้

ประเทศที่จ่ายค่าวัคซีนเอง (SFP)

  • บรูไน 100,800 โดส
  • มาเลเซีย 1,624,800 โดส
  • สิงคโปร์ 288,000 โดส

ประเทศที่สั่งจองล่วงหน้า (AMC)

  • กัมพูชา 1,296,000 โดส
  • อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส
  • ลาว 564,000 โดส
  • เมียนมาร์ 4,224,000 โดส
  • ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส
  • เวียดนาม 4,886,400 โดส

สำหรับประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ว่าประเทศไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

แต่ถึงตอนนี้ ประเทศไทยกลับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีชื่อในสัญญาที่จะได้รับวัคซีนจากโครงการ

เหตุผลที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX คืออะไร นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ตอบคำถามผ่านเฟซบุ๊กของตนเองเมื่อวันที่ 26 มกราคม ว่า

“กรณีที่ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการวัคซีนของโคแวกซ์นั้น เราได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี โคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับโคแวกซ์ เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้งชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนเมื่อไร การที่เราจัดหาเอง และได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขด้านราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่นายอนุทิน อ้างถึงความไม่แน่นอนของวัคซีนที่จะได้รับผ่านทาง COVAX เมื่อย้อนพิจารณาถึงมติ ครม. เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563 การอนุมัติจองล่วงหน้าวัคซีน AstraZeneca 2.3 พันล้านบาท ก็มีเงื่อนไขในสัญญาที่ว่า "มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ"

จากคำชี้แจงของนายอนุทิน เราอาจสรุปได้ว่า รัฐบาลไทยหวังจะได้วัคซีนฟรีจากโครงการ แต่เมื่อไม่ได้ จึงตัดสินใจไม่ร่วมโครงการเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมโครงการ COVAX จะเป็นหลักประกันว่าคนไทยมากถึง 50% จะได้รับวัคซีนภายในเดือนมิถุนายนนี้ก็ตาม

เอกสารอ้างอิง:

https://www.gavi.org/sites/default/files/covid/covax/COVAX-Interim-Distribution-Forecast.pdf