การปิดกั้นสื่อดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการกุมอำนาจทางการเมืองของผู้นำเผด็จการที่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal Democracy)
เมื่อไม่นานมานี้ หลาย ๆ คนอาจได้ยินข่าวที่ทางการจีนประกาศห้ามสำนักข่าว BBC ออกอากาศในจีน การแบนเกิดขึ้นหลังจากที่ Ofcom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อของอังกฤษได้ถอนใบอนุญาตของ China Global Television Network (CGTN) หลังจากพบว่า CGTN ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของบริษัท แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ BBC ได้นำเสนอข่าวต่าง ๆ ที่ทำให้ภาพพจน์ของจีนเสื่อมเสีย ซึ่งรวมไปถึงรายงานเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในจีนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และล่าสุด การกดขี่ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยในรายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ BBC ได้ตีพิมพ์เรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของหญิงชาวอุยกูร์หลายรายที่ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และทรมานในค่าย "re-education" ของจีนในซินเจียง (1)
แล้วก็เป็นไปอย่างที่คาด รัฐบาลจีนออกมาแก้ต่างทุกข้อกล่าวหา และต้านว่ารายงานเหล่านั้นเป็นความเท็จที่ไม่มีมูล การระงับการออกอากาศของ BBC ในจีนถูกให้เหตุผลว่า BBC ละเมิดข้อกำหนดที่ว่าข่าวควรเป็นความจริงและยุติธรรม และไม่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์แห่งชาติของจีน
ในเมียนมาร์ก็เช่นกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นอีกตัวอย่างของการริดรอนเสรีภาพของสื่อโดยเผด็จการทหาร หลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับกุมผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของชาวเมียนมาร์ ประชาชนเกือบทั่วประเทศได้ลุกฮือออกมาต่อต้านและเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ฝ่ายทหารได้พยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน โดยการปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ทเป็นระยะ การบล็อกเฟสบุ๊ค รวมถึงแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารของผู้ชุมนุม การบล็อกเว็บไซต์ของช่องข่าวของเมียนมาร์ 30 แห่ง รวบถึงเว็บไซต์ด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังมีการเสนอกฎหมายใหม่ที่จะอนุญาตให้ทางการจับกุมใครก็ตาม รวมถึงนักข่าว ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยมีโทษจำคุกได้ถึงสามปี
อาจไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเราได้ยินเรื่องราวเหล่านี้จากประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน หรือท่ามกลางการทำรัฐประหาร เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ แต่การปิดกั้นสื่อในประเทศที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นย่อมเป็นเรื่องยากที่จะถูกยอมรับ
ตามดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2563 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 140 จาก 180 ประเทศ ซึ่งต่ำลงจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 59 ในดัชนีปี 2547 นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้ถูกตีตราว่าเป็นหนึ่งใน "ผู้ล่าเสรีภาพสื่อมวลชน" (Predators of Press Freedom) เคียงบ่าเผด็จการระดับโลกอื่น ๆ เช่น คิม จองอึน, สี จิ้นผิง และ วลาดิเมียร์ ปูติน บนเว็บไซต์ขององค์กร Reporters without Borders (RSF) (2)
ทางการไทยได้จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด แม้ว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการคุ้มครองสื่อมวลชน” ได้ถูกบัญญัติเป็นครั้งแรกไว้ใน มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 — อย่างเห็นได้ชัด หนังสือและสื่อนับไม่ถ้วนถูกแบน และผู้เขียนถูกลงโทษหรือจับกุม
ตัวอย่างแรกของการปิดกั้นสื่ออย่างไม่เป็นธรรม คือการแบนหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นชีวประวัติเชิงตีความของกษัตริย์ภูมิพลที่เขียนโดย Paul Handley อดีตนักข่าวประจำการณ์ในกรุงเทพฯ หนังสือถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลและวางจำหน่ายในปี 2549 อย่างไรก็ตามทางการไทยสั่งห้ามขายหรือเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ก่อนการตีพิมพ์เสียอีก ต่อมาเนื้อหาบางส่วนของหนังสือได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยและโพสต์บนอินเตอร์เน็ทโดย Joe Gordon ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีครึ่งในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ส่วนเหตุการณ์ที่แสดงถึงการริดรอนเสรีภาพของสื่ออย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ คือเหตุการณ์หลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 โดยผู้นำทหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลานั้นสื่อโทรทัศน์ 14 ช่องถูกสั่งหยุดออกอากาศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสื่อหนังสือพิมพ์ได้รับคำเตือนว่าอย่าเผยแพร่สิ่งที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ นอกจากนี้นักวิชาการบางคนยังได้ถูกสั่งห้ามการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยผู้ล่วงละเมิดสามารถถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด (3)
จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าสื่อหลายแขนงถูกปิดกั้นโดยผู้นำเผด็จการ เพียงเพราะสื่อเหล่านั้นเผยแพร่ความจริงด้านลบที่รัฐบาลเผด็จการรับไม่ได้ รัฐบาลจึงใช้วิธี “ปิดหูปิดตาประชาชน” เพื่อนำมาซึ่งความสงบและประโยชน์ในการสืบสานอำนาจของตนอย่างไม่ชอบธรรม ซึ่งวิธีการกดทับเช่นนี้ไม่ใช่หนทางการแก้ไขที่ถูกต้อง หากแต่จะทำให้รอยร้าวระหว่างประชาชนและรัฐบาลเพิ่มมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดเราขอเรียกร้อง ความเป็นธรรม สิทธิ และเสรีภาพแก่สื่อมวล ต่อรัฐบาลไทยที่ได้ชื่อว่าปกครองประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
อ้างอิง: https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55794071 https://rsf.org/en/predator/prayut-chan-o-cha https://www.ctvnews.ca/world/thailand-imposes-media-censorship-as-military-coup-begins-1.1832916